วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แก้มาตรา112



แก้มาตรา 112 - รื้อรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อไทย - นิติราษฎร์ในจุดต่างมีจุดร่วม

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 เวลา 00:00 น.
ข้อเสนอให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ ของคณะนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า คณะ ’นิติราษฎร์“ กำลังเป็นที่ ’ถกเถียง“ กันอย่างเข้มข้นและทำท่าว่าจะ ’บานปลาย“ กลายเป็น ’ชนวน“ ความขัดแย้งระลอกใหม่ของคนในสังคมไทย

ต้องแยกกันให้ออกซะก่อนระหว่าง การเสนอแก้ไขมาตรา 112 กับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291

กรณี ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่คณะ ’นิติราษฎร์“ เสนอขึ้นมา พร้อมตั้งคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขไปก่อนหน้านี้นั้น แม้จะระบุว่าเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการและต้องการให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้อย่างรุนแรงจาก ’หลายฝ่าย“ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า ’สยามประชาภิวัฒน์“นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หรือแม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ปรมาจารย์ด้านกฎหมายของเมืองไทย ที่เขียนบทความ อธิบายความแตกต่างและสร้างความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของกฎหมายดังกล่าว

คำถามใหญ่ที่ นายมีชัย ถามกลับไปยังผู้ที่มีแนวคิดที่จะให้มีการแก้ไขคือ ในเมื่อกฎหมายปัจจุบันให้ “ความคุ้มครอง” กับ 3 สถาบันหลักอย่าง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วทำไมถึงได้ ’รณรงค์“ ให้มีการยกเลิกหรือแก้ไข ’เฉพาะ“ สถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่ ฝ่ายการเมืองทั้งหลาย อาทิ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เรื่อยไปถึง ’ขุนทหาร“ อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ออกมาแสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนไว้ว่า

“เป็นเรื่องของความพยายาม ซึ่งมีคนอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มหนึ่งอาจจะไม่ปกติ อยากจะทำโน่นทำนี่ โดยไม่คิดว่าอะไรควรไม่ควร แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น กลุ่มที่ 2 คือ นักวิชาการบางกลุ่ม ซึ่งเป็นนักวิชาการส่วนใหญ่กว่า 90% ยังรักและเทิดทูนสถาบัน อยากจะเรียนไปยังบางส่วนว่า ต้องกลับไปทบทวนว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ท่านครองราชย์มาจนมีพระชนมายุ 84 พรรษามาแล้ว แต่คนที่เป็นนักวิชาการอายุเพียงแค่ 30-40 ปีเรียนหนังสือจบมาแล้วไปเรียนต่อเคยได้ทำคุณประโยชน์อะไรให้กับแผ่นดินบ้างหรือไม่เพียงแค่เรียนหนังสือจบมา แล้วเอาความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นมาเพื่อจะแก้โน่น แก้นี่ ซึ่งยังไม่เคยลองปฏิบัติอะไรสักอย่าง”

ล่าสุด นายเสกสรร ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ ’14 ตุลา 16“ เขียนจดหมายหลังมีชื่อไปปรากฏอยู่ใน 112 รายชื่อที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 โดยเนื้อหาระบุว่า 1. ได้อนุญาตให้มีการใช้ชื่อของตนในฐานะผู้สนับสนุนเพราะผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือขอร้อง 2. ตนไม่ใช่แกนนำในการรณรงค์แก้ไขและ 3. ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะนิติราษฎร์

เมื่อ ’กระแส“ สังคมเกิดการ ’ตีกลับ“ ประกอบกับฝ่ายการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ออกมาทวงถามถึงท่าทีที่แน่ชัดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อข้อเสนอในการแก้ไขในครั้งนี้ เพราะมองว่า ข้อเสนอของคณะ ’นิติราษฎร์“ 2 ใน 3 ครั้งที่ได้แสดงออกทางสังคม เป็นข้อเสนอที่พรรคเพื่อไทยและผู้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ โดยเฉพาะข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ “ทุกอย่าง” กลับไปสู่เหตุการณ์ก่อนวันรัฐประหาร 19 ก.ย. 49

แม้แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างออกรสออกชาติไว้ว่า

“ก็กินยาผิดซอง พวกเพ้อ ไม่มีใครเขาเอาด้วยหรอก บ้านเมืองร่มเย็นมาได้นับร้อย นับพันปี เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นจริง ๆ รวมทั้งพระปรีชาสามารถ ทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว พวกนี้กินยาผิดซองร้องเพลงยิ่งยง ยอดบัวงาม นึกว่าตัวเองหล่อเหมือนคนนั้นคนนี้ ไม่รู้คิดอะไร ไม่เข้าท่า จะไปรื้อทั้งหมด ทำไม่ได้แน่”

หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยยังต้องออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ไม่มีความคิดที่จะแก้ไขมาตรา 112 อย่างเด็ดขาด แต่นั่นก็ไม่เป็นที่ ’ไว้วางใจ“ เหตุเพราะมีแกนนำคนเสื้อแดงซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 เข้ามาทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษา” ของรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาล

เมื่อสถานการณ์เดินทางมาถึงตอนนี้ ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยกำลังใช้วิธีอธิบายในลักษณะทางการเมืองแทนการแสดงจุดยืนทำนองว่า มีความพยายามอาศัยกรณีมาตรา 112 เป็น ’ชนวน“ เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่จงรักภักดี ’ไปไกล“ ถึงขนาดระบุคณะนิติราษฎร์ที่เป็น ’เจ้าภาพ“ ในครั้งนี้ ’รับจ๊อบ“ มาล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประกอบกับมีการให้ข่าวว่ามีกระบวนการ ’ลงขัน“ เพื่อล้มรัฐบาลและความเคลื่อนไหว “แจ้งความ” เพื่อให้ดำเนินคดีกับอดีต พล.อ.นอกราชการที่ไปให้สัมภาษณ์เชิญชวนให้ ’ทหาร“ ออกมาทำการปฏิวัติก่อนหน้านี้

ขณะที่อีก ’มุมมองหนึ่ง“ มองว่า ความพยายามของ ’นิติราษฎร์“ เป็นกระบวนการ ’ฟอกขาว“ ให้ ’ใครคนหนึ่ง“ หลุดพ้นข้อกล่าวหาและเสียงวิจารณ์ที่มีมาตลอดว่า ’ไม่จงรักภักดี“

สถานการณ์ตอนนี้ เหมือนพรรคเพื่อไทยกำลังจะ ’ลอยแพ“ กลุ่มนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่าคณะ ’นิติราษฎร์“ และยิ่งมองลงไปในกระบวนการออกกฎหมาย หากฝ่ายการเมืองส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายก็คงไม่เกิดขึ้นแน่

แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะไม่ ’เอาด้วย“ กับมาตรา 112 แต่ข้อเสนออย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีทีท่าจะปฏิเสธ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ แนวทางที่พรรคเพื่อไทยเดินมาตั้งแต่ต้น แต่ระหว่างที่ถูก ’คัดค้าน“ เพราะการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไข ’ของนักการเมือง“ และทำ ’เพื่อนักการเมือง“

ก็คณะนิติราษฎร์นี่ไม่ใช่หรือ ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ออกมาอธิบายผ่านทางวิชาการว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 50ว่ามี ’ที่มา“ ที่ไม่ถูกต้องเพิ่ม ’น้ำหนัก“ ความชอบธรรมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น

ถึงตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยจะมี ’มติ“ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ รัฐบาลเป็นเจ้าภาพหรือไม่ แก้ไขประเด็นอะไรบ้าง แต่หากดูความเคลื่อนไหวที่เริ่ม ’เข้มข้น“ ขึ้นทุกขณะก็จะพบว่า องคาพยพ ที่เคลื่อนไหวล้วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกลุ่มแดง นปช.ที่มี นางธิดา ถาวรเศรษฐ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นแกนนำ สมาพันธ์ประชาชนรักประชาธิปไตย 20 จังหวัดภาคเหนือ ที่มี นายยอดเยี่ยม ศรีมันตะคนใกล้ชิด นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานสมาพันธ์

การพยายามอธิบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้จะเป็นการแก้ไขแค่มาตรา 291 เท่านั้น แต่หากดู “เนื้อใน” จะพบว่าการแก้ไขมาตรานี้ คือการเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ’ทั้งฉบับ“ เกิดขึ้น

พรรคเพื่อไทย เลือกปฏิเสธ มาตรา 112 และเลือกที่จะ ’พยักหน้า“ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับข้อเสนอของคณะ ’นิติราษฎร์“ แม้จะต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียดตรง ’ที่มา“ ของ ’ผู้ที่จะมาแก้ไข“ โดยนิติราษฎร์เสนอให้มี คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย โดยให้ ส.ส.เลือกกันเองมาเป็นกรรมการ 20 คน และส.ว.เลือกกันเองมาเป็นกรรมการ 5 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย จะเสนอให้มี ส.ส.ร.ด้วยการเลือกตั้งโดยตรง 77 จังหวัด 77 คน รวมกับนักวิชาการอีก 23 คน

นายฉลอง เรี่ยวแรง ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นไว้ว่า ส่วนตัวสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 20 ซึ่งมาตรานี้อยู่ใน ’หมวดพระมหากษัตริย์“

ทั้งความพยายามแก้ไขมาตรา 112 และความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านมาตรา 291 จึงเป็นความพยายามของกลุ่มต่าง ๆ ที่ ’ล้วน“ เชื่อมโยงกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

เป็นสถานการณ์ ’สุ่มเสี่ยง“ ที่แม้แต่ นายธีรยุทธ บุญมี อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาแสดงความเห็น ’กระตุก“ สังคมเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ช่วงหนึ่งระบุว่า

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้กว้างมาก ลึกมาก ซึ่งทางออกผมจะไม่เสนอประนีประนอม สมานฉันท์ แต่ต้องอาศัยกระบวนการคลี่คลายเป็นช่วง ๆ จุดเริ่มต้นที่ดีที่น่าจะเกิดคือ ต้องมองปัญหาแบบที่เป็นจริงและตัดอคติของตัวเองทั้งหมด เคยเกลียดชัง ไม่เห็นด้วยหรือชื่นชมศรัทธาเชื่อถือมากก็ต้องลด ถ้าศึกษาเข้าใจปัญหาจริง ๆ อาจจะช่วยเปิดทางช่วยให้มองเห็นว่าควรจะทำอะไร

ดูท่าจะ ’วิกฤติ“ ตามที่ ’ทุกฝ่าย“ ได้ประเมินไว้ตรงกัน ที่สำคัญห่างไกลจากคำว่า ’ปรองดอง“ และสมาน

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์
        เนื่องจากวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาทางด้านสังคมศาสตร์จึงไม่สามารถให้ความหมายที่แน่นอนตายตัวได้ นักเศรษฐศาสตร์จึงได้ให้ความหมายที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าจะมองในแง่ใด ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ในสมัยต่อๆมาจึงมีความหมายที่กว้างกว่าการจัดการครอบครัว

        วิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมาสนองความต้องการของมนุษย์ โดยให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ ส่วนการผลิตทางด้านเศรษฐศาสตร์ หมายถึงการที่ เจ้าของทรัพยากร เจ้าของทุน เจ้าของแรงงาน และผู้ประกอบการ สามารถใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ปัจจัยการผลิตที่ตนมีอยู่นั้น ให้ผลตอบแทนแก่ตนเองมากที่สุด ช่วยผู้ประกอบการตัดสินใจใช้ปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด และการประยุกต์หลักธรรมตามพุทธเศรษฐศาสตร์มาใช้อธิบายได้ดังนี้ คือ ให้ใช้หลักของปัญญา ในการผลิต โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้คนส่วนมากเป็นสิ่งสำคัญ

 การพิจารณาเลือกปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์

1. ที่ดิน พิจารณาถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่นป่าไม้ สัตว์ป่า น้ำฝน แร่ธาตุ ถึงความอุดมสมบูรณ์ ทิวทัศน์ 2. แรงงาน พิจารณาถึง วัย รวมถึงคุณภาพความรู้ ความสามารถ สุขภาพ ศีลธรรมและจริยธรรม 3. ทุน พิจารณาถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นได้แก่ เครื่องมือ เครื่องจักร โรงงาน เป็นต้น 4. ผู้ประกอบการ พิจารณาถึงผู้ที่นำเอาปัจจัยทั้ง 3 มาทำการผลิต เมื่อเลือกแล้วควรนำมาพิจารณา

        โดยปกติหากมนุษย์ดำเนินชีวิตเพียงเพื่อปัจจัย 4 ทรัพยากรต่าง ๆ ย่อมสามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ครบ แต่ในสภาพความเป็นจริงมนุษย์มีความต้องการไม่สิ้นสุดและทรัพยากรก็มีจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาความขาดแคลนขึ้น เศรษฐศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่เข้าไปคลี่คลายปัญหาความขาดแคลนดังกล่าว โดยหาทางออกให้กับมนุษย์ได้เลือกใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

        โดยธรรมชาติมนุษย์มีความต้องการตลอดเวลา และไม่มีที่สิ้นสุด แต่จำนวนสินค้าและบริการมีจำกัด ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างสินค้า บริการและความต้องการ จึงเกิดการเลือกที่จะต้องตอบสนองความต้องการ ในการเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้หมดโอกาสที่จะทำสิ่งอื่นไปโดยปริยาย เราเรียกว่าสูญเสียโอกาส จึงกล่าวว่าเมื่อตัดสินใจเลือกจะเกิดต้นทุนเกิดขึ้นพร้อมกันเราเรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส ดังนั้นการที่จะเลือกเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีต้นทุนต่ำสุด

        สรุปได้ว่า 1. ความต้องการมีไม่จำกัด (unlimited wants) 2. ทรัพยากรมีจำกัด (scarcity resources)..ทำให้เกิดความขาดแคลน 3. จึงเกิดการเลือก (choice) 4. เมื่อเกิดการเลือกสิ่งที่ตามมาคืออะไร.......................

         สินค้าและบริการ (goods and services) เป็นสิ่งที่มีอรรถประโยชน์(utility)คือสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับความพอใจโดยไม่คำนึงว่าผิดกฏหมายหรือผิดศีลธรรม

         สินค้าไร้ราคาหรือทรัพย์เสรี (free goods) มีตามธรรมชาติ เกินความต้องการของมนุษย์ ใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น น้ำ อากาศ แสงแดด

         สินค้าทางเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐทรัพย์ (economic goods) สินค้าที่มีต้นทุนการผลิต มีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ ต้องซื้อหรือจ่ายค่าตอบแทน

        การศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆต้องเข้าใจพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจแต่ละหน่วย ในลักษณะที่เป็นส่วนย่อยและส่วนรวมของระบบเศรษฐกิจเพื่อเข้าใจการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทั้งระบบได้ดียิ่งขึ้น

 เศรษฐศาสตร์ แบ่งเป็น 2 สาขา

         เศรษฐศาสตร์จุลภาค microeconomics เป็นการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนย่อย ครัวเรือนหรือธุรกิจเพียงหน่วยใด หน่วยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การบริโภค การกำหนดราคา การจำหน่ายจ่ายแจก เน้นไปทางการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคล หรือกลุ่มของบุคคลเนื้อหาส่วนใหญ่ของเศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็นเรื่องเกี่ยวกับราคาในตลาดแบบต่างๆ จึงเรียกอีกอย่างว่า ทฤษฏีราคา(price theory)

        เศรษฐศาสตร์มหภาค macroeconomics เป็นการศึกษาของเศรษฐกิจส่วนร่วม เป็นการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจทุกหน่วยในสังคมเช่นรายได้ประชาชาติ ระดับราคาสินค้า การกระจายรายได้ การคลังรัฐบาล การค้าระหว่างประเทศ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ระหว่างประเทศ

 นักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ

• อัลเฟรด มาร์แชล ผู้ริเริ่มทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็คนแรก เขียนผลงานพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ผลิต (เสนอทฤษฎีว่าด้วยการผลิต) • จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ผู้ริเริ่มทฤษฏี ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นคนแรก ได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค” โดยเสนอ นโยบายวิธีแก้ปัญหาการว่างงาน การเงิน การคลัง การออม การลงทุน • อดัม สมิธ ชาวอังกฤษได้รับสมญา “บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์” เขียนหนังสือ “An inquiry in to the Nature and causes of the Wealth of Nations” หรือ ความมั่งคั่งของประชาชาติ The Wealth of Nations เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มแรกกล่าวถึงทำอย่างไรประเทศจึงจะร่ำรวย พูดถึงเรื่องกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างสังคมกับธุรกิจให้ผลประโยชน์ร่วมกัน เรื่องกลไกของตลาด การกำหนดมูลค่าของราคาสิ่งของ การบริหารการคลัง การกระจายรายได้ การค้าระหว่างประเทศ ประเทศ ไทยมีหนังสือเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์เล่มแรกคือ “ทรัพย์ศาสตร์เบื้องต้น” เ รียบเรียงโดย พระยาสุริยานุวัตร เมื่อ พ.ศ. 2454 ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็น “เศรษฐศาสตร์วิทยาภาคเบื้องต้น เล่ม 1”

 ประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์

        เราศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์เพราะอะไร?..เพื่อได้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งสาเหตุและผลกระทบต่อบุคคล สังคม เพื่อรู้แนวทางที่จำนำไปแก้ไขหรือประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีเหตุผล
1. ช่วยให้สามารถซื้อหรือใช้ บริโภคสินค้าที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้จักใช้ รู้จักออม
2. เจ้าของปัจจัยการผลิต ใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ตัดสินใจใช้ปัจจัยการผลิตที่ต้นทุนต่ำแต่เกิดกำไรสูงสุด
3. เข้าใจสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้
4. ใช้ความรู้ในการจัดสรรทรัพยากร กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และรักษาผลประโยชน์ในการลงทุน การค้ากับต่างประเทศได้

การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์

การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์แบบใดที่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเหตุใด
1. เศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง หรือ เศรษฐศาสตร์พรรณา (Positive หรือ descriptive economics) การศึกษาเศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจหรือระบบเศรษฐกิจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้รู้ว่าอะไรคือสาเหตุ ทำให้เราสามารถพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสถาณการณ์ทั่วๆไปได้ โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายทางสังคม ไม่นำเอาจริยธรรม ค่านิยม ความคิดทางสังคมมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น กรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ การศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริงจะศึกษาเพียงว่า น้ำในแม่น้ำเน่าก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนเท่าไร จะไม่ชี้แนะว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการเช่นไร เศรษฐศาสตร์ที่เป็นจริงถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง เพราะการศึกษาสามารถให้ข้อสรุปที่เป็นกฏเกณฑ์ได้
2. เศรษฐศาสตร์ตามที่ควารจะเป็น หรือเศรษฐศาสตร์นโยบาย (normative หรือ policy economics) การศึกษาที่กล่าวถึงพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจ หรือระบบเศรษฐกิจโดยมีการสอดแทรกข้อเสนอแนะที่เห็นว่าถูกหรือควรจะเป็นลงไปด้วย โดยคำนึงถึงเป้าหมายทางสังคม

        สอดแทรกความต้องการของสังคม มีการนำเอาค่านิยม จริยธรรม แนวคิดทางสังคมเข้าร่วมพิจารณา เช่น รัฐบาลต้องการเพิ่มภาษีสินค้ารถยนต์ นอกจากศึกษาถึงผลกระทบต่างๆแล้วสิ่งที่อาจเกิดขึ้นยังศึกษาว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ ให้ข้อชี้แนะแก่รัฐบาลว่าควรหรือไม่ควรขึ้นภาษีสินค้าชนิดนั้นหรือไม่ เศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็นจะให้ข้อสรุปที่แตกต่างกันแล้วแต่การวินิจฉัยของบุคคลว่าอะไรถูก อะไรควร ไม่อาจกำหนดเป็นกฏเกณฑ์ที่ตายตัวได้